งานบริการวิชาการ :

ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ขอรับบริการ

ระบบคุณภาพของห้องปฏิบัติการ

 

    ห้องปฎิบัติการเทคโนโลยีไฟฟ้าและการส่องสว่าง ในสังกัด ห้องปฎิบัติการทดสอบ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ได้รับการรับรองห้องปฎิบัติการทดสอบตามมาตรฐาน มอก. 17025-2561 (ISO/IEC 17025:2017) หมายเลขการรับรองที่ ทดสอบ 0545 ในหัวข้อการทดสอบสมรรถนะของผลตภัณฑ์ส่องสว่าง ประเภทแอลอีดี (LED lighting products) ตามมาตรฐานการทดสอบ IES/LM-79-08 IES/LM79-19 และ CIE S 025/E:2015 โดยเป็นห้องปฎิบัติการทดสอบแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน CIE S 025/E:2015 ครบทุกหัวข้อการทดสอบ ซึ่งเป็นมาตรฐานสำหรับทดสอบสมรรถนะของผลิตภัณฑ์ส่องสว่าง ประเภทแอลอีดีฉบับล่าสุดที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

 

ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

 

 

นโยบายคุณภาพของห้องปฏิบัติการทดสอบ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

“ดำเนินการทดสอบตามมาตรฐานสากลด้วยเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงที่มีการรับรองตามมาตรฐาน

โดยอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางและมีประสบการณ์สูง สะดวก รวดเร็ว และสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ”

 

นโยบายคุณภาพของห้องปฏิบัติการฯ จะดำเนินการ ดังนี้

  1. ห้องปฏิบัติการฯ ยึดมั่นที่จะปฏิบัติการตามมาตรฐานสากลด้วยคุณภาพการทดสอบอย่างเคร่งครัดในการให้บริการผู้ขอรับบริการ
  2. ห้องปฏิบัติการฯ มุ่งมั่นที่จะดำเนินการให้ได้มาซึ่งผลการทดสอบที่ถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็ว เพื่อให้ผู้ขอรับบริการพึงพอใจ ภายใต้กฎหมายและขีดความสามารถของห้องปฏิบัติการฯ
  3. ผู้จัดการคุณภาพต้องรับผิดชอบดูแลการดำเนินกิจกรรมทดสอบให้เป็นไปตามมาตรฐาน ISO/IEC17025 และให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
  4. กำหนดให้เจ้าหน้าที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทดสอบต้องทำความคุ้นเคยกับเอกสารระบบการบริหารงานคุณภาพ พร้อมทั้งนำนโยบายและขั้นตอนการดำเนินงานไปใช้ในงานที่รับผิดชอบ
  5. หัวหน้าภาควิชาฯ หัวหน้าห้องปฏิบัติการฯ และหัวหน้าฝ่ายประกันคุณภาพ ต้องจัดให้มีหลักฐานของความมุ่งมั่นที่จะพัฒนานำไปใช้ เพื่อให้ระบบการบริหารงานคุณภาพและปรับปรุงความมีประสิทธิผลอย่างต่อเนื่อง
  6. หัวหน้าภาควิชาฯ หัวหน้าห้องปฏิบัติการฯ และหัวหน้าฝ่ายประกันคุณภาพ ต้องสื่อสารภายในห้องปฏิบัติการฯ ให้ทราบถึงความสำคัญของความเป็นไปตามข้อกำหนดของผู้ขอรับบริการ เช่นเดียวกับการคำนึงถึงกฎหมายและและกฎระเบียบ
  7. เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นภายในห้องปฏิบัติการฯ หัวหน้าภาควิชาฯ หัวหน้าห้องปฏิบัติการฯ และหัวหน้าฝ่ายประกันคุณภาพ ต้องมั่นใจว่าสามารถคงไว้ซึ่งความสมบูรณ์ของระบบการบริหารงานที่ได้มีการวางแผนและนำไปปฏิบัติได้

 

ข้อปฏิบัติในการรักษาข้อมูลของห้องปฏิบัติการฯ

  1. ห้องปฏิบัติการฯ มีระบบป้องกันการเข้าถึงและการคัดลอกข้อมูล โดยมีการกำหนดชื่อผู้ใช้งาน (user name) และรหัสผ่าน (password) ซึ่งถูกกำหนดไว้ 1 ชื่อผู้ใช้งาน ต่อ 1 คน
  2. ห้องปฏิบัติการฯ มีระบบป้องกันการเข้าถึงและการคัดลอกข้อมูลบนฐานข้อมูลออนไลน์ โดยมีการจำกัดสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้งานของแต่ละตำแหน่ง ตามบทบาทและความเหมาะสมต่อการปฏิบัติงาน
  3. กำหนดให้บุคลากรทุกคน ทำการติดต่อสื่อสารข้อมูลภายในห้องปฏิบัติการฯ ในรูปแบบจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ โดยทางห้องปฏิบัติการได้กำหนด Account ของแต่ละตำแหน่งไว้ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานใช้สำหรับข้อมูลทั้งหมดของห้องปฏิบัติการฯ
  4. บุคลากรทุกคน ต้องไม่พูดคุยเกี่ยวกับข้อมูลของห้องปฏิบัติการฯ ในพื้นที่สาธารณะ เช่น ลิฟต์ ร้านอาหาร สวนสาธารณะ ฯลฯ
  5. ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับผู้ขอรับบริการที่ได้รับจากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่จากผู้ขอรับบริการ เช่น ผู้ร้องเรียนหรือหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมาย ห้องปฏิบัติการจะไม่เปิดเผยข้อมูลรวมถึงแหล่งที่ให้ข้อมูลดังกล่าวให้ผู้ขอรับบริการทราบ ยกเว้นได้รับการยินยอมจากแหล่งข้อมูล
  6. ห้องปฏิบัติการจะแจ้งผู้ขอรับบริการล่วงหน้าก่อนเปิดเผยข้อมูลต่อสู่สาธารณะชน ยกเว้นกรณีที่มีข้อบังคับตามกฎหมายหรือได้รับการอนุญาตตามข้อตกลงกับผู้ขอรับบริการเท่านั้น
  7. ข้อมูลความลับที่มีรูปแบบเป็นเอกสาร จัดเก็บใส่แฟ้มข้อมูลไว้ในตู้เอกสารและปิดล็อคด้วยกุญแจที่แข็งแรงและมั่นคง
  8. ข้อมูลความลับที่มีรูปแบบเป็นเอกสารต้องถูกเก็บออกจากอุปกรณ์ประมวลผลต่าง ๆ เช่น เครื่องพิมพ์ เครื่องโทรสาร เครื่องถ่ายเอกสาร ฯลฯ โดยทันที
  9. ห้ามบุคลากรทุกคน นำสื่อบันทึกข้อมูลเข้าและออกจากบริเวณพื้นที่ปฏิบัติงานโดยเด็ดขาด และทางห้องปฏิบัติการฯ อนุญาตให้ใช้สื่อบันทึกข้อมูลที่ทางห้องปฏิบัติการจัดเตรียมไว้ให้เท่านั้น
  10. บุคลากรทุกคน จะต้องสำรองข้อมูลไว้ในระบบฐานข้อมูลที่ทางห้องปฏิบัติการกำหนดไว้เท่านั้น ได้แก่ Cloud เพื่อป้องกันข้อมูลสูญหาย